|
|
|
การออกแบบกราฟิกเพื่อการสื่อความหมาย จำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบ 9 ประการ คือ เส้น, รูปร่าง, รูปทรง, ขนาด, ทิศทาง, ที่ว่าง, ลักษณะผิว, ความเข้ม และสี ผู้ที่ทำการออกแบบจะต้องศึกษาองค์ประกอบ
ในการออกแบบให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เพื่อที่จะนำมาใช้ในงานออกแบบต่างๆได้อย่างเหมาะสม และมีคุณค่าในทางศิลปะ
องค์ประกอบในการออกแบบ แบ่งเนื้อหาได้ดังนี้ :
|
|
2.8. ค่าน้ำหนักของสี (Value)
ค่าน้ำหนักของสี (Value) ค่าน้ำหนักของสี หมายถึง สีที่สดใส สีกลาง สีทึบของแต่ละสีจากค่าน้ำหนักอ่อนสุดไปจนถึงเข้มสุดในสีเดียวกัน ค่าของสีนี้จะช่วยทำให้เกิดความรู้สึกต่างๆ เช่น เกิดความเคลื่อนไหว เกิดระยะใกล้-ไกล เกิดความลึก-ตื้น เกิดความแตกต่างในเรื่องของขนาด ความกลม หรือความหนา ซึ่งส่วนมากจะเป็นการเพิ่มจาก 2 มิติเป็น 3 มิติ ในการทำความเข้าใจในเรื่องค่าน้ำหนักของสีนี้ สามารถดูตัวอย่างได้จากระดับความเข้ม (Gray Scale) ซึ่งมีอยู่ประมาณ 9 ระดับด้วยกัน โดยเริ่มต้นจากสีขาวจนถึงสีดำ ระดับความเข้มนี้เป็นกุญแจ (Value Keys) ซึ่ง นพวรรณ (2540: 49) ได้กล่าวว่า การแสดงความรู้สึกในภาพโดยการใช้ค่าน้ำหนักสีแบ่งออกเป็น 4 อย่าง คือ
1. น้ำหนักเข้ม (Low Key)ให้ความรู้สึกน่ากลัว สง่า ขรึม ซึ่งจะอยู่ที่ความเข้มระดับ 1, 2 และ 3
2. น้ำหนักกลาง(Middle Key) บางตำราอาจใช้คำว่า (Intermediate Key) ให้ความรู้สึกเงียบ เฉย ถ้ามีมากเกินไปจะทำให้งานจืดชืด ซึ่งจะอยู่ที่ระดับความเข้มที่ 4, 5 และ 6
3. น้ำหนักอ่อน (High Key) ให้ความรู้สึกเบา อ่อนโยน จัดอยู่ในระดับความเข้มที่ 7, 8 และ 9
4. น้ำหนักตัดกัน (Full Contrast)ให้ความรู้สึกตื่นเต้น เร้าใจ เช่น ระดับที่ 1 และ 9 เป็นน้ำหนักที่ตัดกัน
|
|
ภาพแสดงความเข้มที่นิยมใช้กันในงานออกแบบมีอยู่ต่างกัน
9 ระดับ |
นพวรรณ (2540: 64) กล่าวว่า ...
ค่าน้ำหนักสีสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยเติมสีขาว หรือสีดำลงไปในสีนั้น ถ้าเติมสีขาวจะทำให้สีนั้นสว่างขึ้น และสร้างสีอ่อน (Tint) หรือเรียกว่า "ค่าน้ำหนักสีอ่อน" (High Value Color) ถ้าเติมสีดำลงไปจะทำให้สีเข้มขึ้น และสร้างเงา (Shade) หรือเรียกว่า "ค่าน้ำหนักสีเข้ม" (Low Value Color) ความคิดเห็นของคนในการแยกค่าน้ำหนักแตกต่างกันไป แต่คนส่วนมากสามารถแยกแยะสีได้อย่างน้อย 40 ระดับ
|
|
|